Widgetized Section

Go to Admin » Appearance » Widgets » and move Gabfire Widget: Social into that MastheadOverlay zone

OKMD กระตุกต่อมคิด มอบรางวัลสุดยอดปกหนังสือสวยสร้างสรรค์ของประเทศ ครั้งที่ 1

สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) จัดงานประกาศผลและมอบรางวัลการประกวดปกหนังสือสวยสร้างสรรค์ ครั้งที่ 1 (OKMD Book Cover Award 2017) เพื่อส่งเสริมผลงานปกหนังสือที่มีความโดดเด่น โดยแบ่งประเภทเป็น รางวัล Very Thai (เวรี่ไทย) รางวัล Cute Cute (น่ารักยกกำลังสอง) รางวัล Striking Stumble (สวยสะดุด) และรางวัล One of a Kind (ไอเดียบรรเจิด) ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) 

ดร.อธิปัตย์ บำรุง ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน): สบร. หรือ OKMD (Office of Knowledge Management and Development: Public Organization) สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า “OKMD เป็นหน่วยงานในสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี จัดตั้งขึ้นโดยมีพันธกิจในการพัฒนาการเรียนรู้สาธารณะและแหล่งเรียนรู้สร้างสรรค์ที่ทันสมัย ปัจจุบัน OKMD ได้ก้าวเข้าสู่ทศวรรษที่ 2 ของการก่อตั้ง ซึ่งเรามีความคาดหวังและมุ่งมั่นที่จะพัฒนา ให้เป็นองค์กรนำในการสร้างพลังแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตให้แก่คนไทย ผ่านกิจกรรมการเรียนรู้และโครงสร้างพื้นฐานทางปัญญารูปแบบใหม่ เพื่อเป็นช่องทางแสวงหาความรู้ ทักษะ โอกาส และการเป็นส่วนร่วมของสังคมอุดมปัญญา เพื่อเตรียมความพร้อมคนไทยให้สามารถรองรับความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต”

“การประกวดปกหนังสือสวยสร้างสรรค์ (OKMD Book Cover Award 2017) ในครั้งนี้ซึ่งจัดเป็นครั้งแรก เกิดขึ้นจากการที่ OKMD เล็งเห็นคุณค่าของการออกแบบสร้างสรรค์ โดยเฉพาะปกหนังสือซึ่งถือเป็นประตูสู่การอ่าน จึงได้จัดโครงการประกวดปกหนังสือสวยสร้างสรรค์ (OKMD Book Cover Award 2017) เพื่อเป็นเวทีให้กับสำนักพิมพ์ที่มุ่งมั่นสร้างสรรค์ผลงานและเทคนิคการออกแบบใหม่ๆ เพื่อกระตุ้นให้สังคมได้เห็นคุณค่าแห่งการออกแบบปกหนังสือ โดยถือได้ว่าเป็นอีกก้าวแรกสำคัญของ OKMD ที่ได้ส่งเสริมและสนับสนุนให้สำนักพิมพ์ทั่วประเทศมีโอกาสส่งผลงานปกหนังสือที่มีความโดดเด่นในด้านสร้างสรรค์ต่างๆ เข้าร่วมประกวดเพื่อได้รับการเชิดชูและรับรู้จากประชาชน ซึ่งเป็นการส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์และสร้างแรงบันดาลใจในการผลิตผลงานปกหนังสือนำเสนอต่อผู้อ่าน โดยการประกวดปกหนังสือสวยสร้างสรรค์ครั้งนี้ มีสำนักพิมพ์ทั่วประเทศส่งเข้าร่วมประกวด จำนวน 59 สำนักพิมพ์ โดยมีผลงานเข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น 405 ชิ้นงาน” ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) กล่าว

ด้านนางสาวน้ำใส ศุภวงศ์ ผู้ชนะรางวัล Very Thai (เวรี่ไทย) จากสำนักพิมพ์แซลมอน เปิดเผยว่าการออกแบบปกหนังสือ “ไทยๆ ในโลกล้วนอนิจจัง” ในครั้งนี้มีแนวคิดจากการรวบรวมนำความเป็นไทยมารวมกัน โดยหาแพลตฟอร์มที่สามารถรวมหลายๆ เรื่องเข้าด้วยกันได้ โดยยังดูมีความเป็นไทยอยู่ แต่มีสไตล์ที่โมเดิร์นมากยิ่งขึ้น และคงอารมณ์ขันของคนเขียนไว้ได้ เพื่อทำให้ผู้อ่านได้เปิดอ่านเนื้อหาด้านในหนังสือต่อไป

นางสาวกาญจนา โผนประสิทธิ์ ผู้ชนะรางวัล  Cute Cute (น่ารักยกกำลังสอง) จากสำนักพิมพ์บันลือบุ๊คส์ กล่าวว่า ก่อนอื่นต้องขอบคุณ OKMD ที่เปิดเวทีและให้โอกาสมีการประกวดดีๆ แบบนี้เกิดขึ้น ซึ่งการประกวดในครั้งนี้เป็นเหมือนแรงกระตุ้นศักยภาพในตัวของนักออกแบบและเป็นกำลังใจให้คนที่ทำงานกราฟฟิกได้สร้างสรรค์ผลงานปกหนังสือดีๆ อย่างเช่น “หมาจ๋า Therapy” ที่ตนเป็นผู้ออกแบบออกมาสู่ผู้อ่านต่อไป

ด้านนายสันติ ลอรัชวี ผู้ชนะรางวัล Striking Stumble (สวยสะดุด) จากสำนักพิมพ์โอเพ่นบุ๊คส์ กล่าวว่า สำหรับการได้รับรางวัลในครั้งนี้ ซึ่งเป็นครั้งแรกของการจัดการประกวดต้องขอขอบคุณคณะกรรมการทุกท่านและ OKMD ที่เปิดโอกาสให้นักออกแบบได้มีเวทีการประกวด ซึ่งปก “หนังสือ มูซาชิ (White Edition)” เป็นเล่มแรกที่ตนได้ทำงานร่วมกับสำนักพิมพ์โอเพ่นบุ๊คส์ และขอบคุณคุณภิญโญ ไตรสุริยธรรมา บรรณาธิการ โอเพ่นบุ๊คส์ ที่ให้โอกาสและนำเสนอเรื่อง มูซาชิ ซึ่งเป็นหนังสือโปรดของตนอยู่แล้วให้ได้ออกแบบปก ซึ่งมีเนื้อหาที่ไม่ยากเกินไปในการออกแบบปกในครั้งนี้

นายวชิรา รุธิรกนก ผู้ชนะรางวัล  One of a Kind (ไอเดียบรรเจิด) จากแร็บบิตฮู้ดสตูดิโอ ร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และสำนักพิมพ์ บจก.Handiworks เปิดเผยถึงความรู้สึกว่า ก่อนอื่นต้องขอบคุณคณะกรรมการทุกท่านและการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หรือ ททท. ที่ให้โอกาสพร้อมทั้งอนุญาตให้ได้ทำโปรเจ็กต์สนุกๆ แบบนี้ โดย “little chiang mai” เป็นหนังสือท่องเที่ยว ที่การทำงานเกิดขึ้นจากคำถามว่า ในยุคที่ทุกคนใช้ออนไลน์กันเป็นจำนวนมาก งานท่องเที่ยวแบบกระดาษมันยังทำงานและยังมีความต้องการอยู่ไหม ดูว่ากระดาษมันทำอะไรได้บ้าง ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นแรงบันดาลใจให้ออกแบบปกหนังสือเล่มนี้

ทั้งนี้คณะกรรมการตัดสินการประกวด ประกอบด้วย ดร.อธิปัตย์ บำรุง ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ ดร.เสรี นนทสูติ รองกรรมการผู้จัดการ มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาองค์กรภาครัฐ (IRDP) นายสุรชัย พุฒิกุลางกูร นักสร้างสรรค์โฆษณาภาพนิ่ง (Illustrator) อันดับหนึ่งของโลกตั้งแต่ปี 2013 จนถึงปัจจุบันจากนิตยสาร Lurzer’s Archive กรรมการผู้จัดการบริษัท อิลลูชั่น จำกัด สตูดิโอสัญชาติไทยที่กวาดรางวัลระดับโลกมาแล้วกว่า 1,000 รางวัล นางมนทกานติ รังสิพราหมณกุล บรรณาธิการบริหาร นิตยสาร Madame Figaro กูรูด้านแฟชั่น ศิลปะ และความงาม พิธีกร นักแสดง และนางสู่ขวัญ บูลกุล นักแสดง พิธีกร เซเลบริตี้คนดัง ซึ่งร่วมกันตัดสินการประกวดปกหนังสือสวยสร้างสรรค์ ที่สำนักพิมพ์ทั่วประเทศส่งเข้าร่วมประกวด

 

เกี่ยวกับ สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) – สบร.

สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) – สบร. มีชื่อภาษาอังกฤษว่า Office of Knowledge Management and Development (Public Organization) – OKMD จัดตั้งขึ้นโดยพระราชกฤษฎีกา “จัดตั้งสำนักงานบริหารพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) พ.ศ. 2547”

บทบาทของ สบร. และหน่วยงานภายในสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน)หรือ OKMD เป็นหน่วยงานกลางที่ทำหน้าที่ควบคุมการดำเนินงานให้เป็นไปตามนโยบายของคณะกรรมการบริหาร สบร. โดยทำหน้าที่ จัดระบบบริหารงานภายใน ประสานแผนและงบประมาณ พัฒนายุทธศาสตร์และนโยบายการพัฒนาองค์ความรู้

สำนักงานอุทยานการเรียนรู้ (สอร.) หรือ Thailand Knowledge Park (TK Park) เป็นแหล่งเรียนรู้ที่ส่งเสริมให้เด็กและ เยาวชน มีนิสัยรักการอ่าน รู้จักการแสวงหาความรู้และการเรียนรู้อย่าง สร้างสรรค์ ในบรรยากาศที่ทันสมัย ภายใต้รูปแบบ “ห้องสมุดมีชีวิต” พร้อมทั้งส่งเสริมให้เยาวชนมีโอกาส พัฒนาแลกเปลี่ยน และแสดงผลงาน ที่มีความคิดสร้างสรรค์

ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (ศสบ.) หรือ Thailand Creative and Design Center (TCDC) เป็นแหล่งทรัพยากรข้อมูล การเรียนรู้ด้านการออกแบบที่สร้างแรงบันดาลใจและกระตุ้นให้คนไทยปลดปล่อยพลัง สร้างสรรค์เพื่อสร้างสินค้าใหม่หรือผลงานที่เป็นต้นฉบับของตนเอง

สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (สพร.) หรือ National Discovery Museum Institute (NDMI) ทำหน้าที่ถ่ายทอด ความรู้สาขาต่างๆ ผ่านนิทรรศการซึ่งสร้างสรรค์โดยใช้นวัตกรรมใหม่ในการเล่าเรื่องราว ของชนชาติ วิถีชีวิต ภูมิปัญญา และเศรษฐกิจไทยในรูปแบบมีชีวิต ที่สามารถจุดประกายความอยากรู้ การตั้ง คำถามและปฏิสัมพันธ์ระหว่างนิทรรศการ กับผู้ชม เพื่อเกิดทักษะการเรียนรู้ด้วยตนเองสร้างประโยชน์ทาง เศรษฐกิจและพัฒนาประเทศโดยรวม

You must be logged in to post a comment Login